หน้าเว็บ

จุดเริ่มต้นของการศึกษาไทย

สภาพการศึกษาไทยในอดีต-ปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย  แบ่งตามการปกครองและรูปแบบการจัดการศึกษาออกเป็น ๒ ยุคใหญ่ๆคือ
  • การศึกษาไทยยุคก่อนทันสมัย หมายถึง ตั้งแต่สมัยลานนาไทยและสุโขทัยจนถึงพ.ศ. ๒๔๑๑ ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาแบบอรูปนัย (Informal Education)
  • การศึกษาไทยยุคทันสมัย หมายถึง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๑ จนถึงปัจจุบันนี้ ภายใต้ระบอบการปกครองทั้งสองระบอบคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาแบบรูปนัย (Formal Education)
 
       1. การศึกษาไทยยุคก่อนทันสมัย ตั้งแต่ลานนาไทย สุโขทัย อยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการจัดการศึกษาภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการศึกษาแบบสืบทอดการเรียนรู้อย่างไม่มีแบบแผนที่แน่นอน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางสำคัญของการศึกษาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สมาชิกของสังคมมีความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆเช่น การประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และจัดการศึกษาเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคม แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ
                1.1 จัดการศึกษาให้แก่สามัญชนทั่วไป หมายถึง การศึกษาที่มีอยู่ทั่วไป เช่น ในครอบครัว ชุมนุมชน วัด และ วัง มีความรู้เกี่ยวกับวิชาหนังสือ และการประกอบอาชีพ
                1.2 การศึกษาที่จัดในวัด หมายถึง มีความมุ่งหมายเฉพาะให้แก่บุคคลที่ต้องการบวชเรียน เพื่อให้มีความรู้พุทธศาสนา

          1)  การศึกษาไทยสมัยสุโขทัย (พ.ศ.๑๗๘๑-๑๙๘๑) สมัยนี้นับได้ว่าเป็นสมัยที่มีความหมายสำคัญมากต่อการศึกษาไทยทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นสมัยแรกที่ไทยมีตัวอักษรประจำชาติ ซึ่งนับว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญยิ่งของความเป็นชาติ
               การจัดการศึกษาสมัยสุโขทัยนี้มีความสัมพันธ์ระหว่าง สถาบันครอบครัว วัด และรัฐอย่างใกล้ชิดโดยมีค่านิยมว่า “ความรู้ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นความรู้ที่สูงสุด มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใด” 

          2)  การศึกษาไทยสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๙-๒๓๑๐) การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยาแม้ว่าจะมีเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี แต่สภาพทั่วไปยังคงมีลักษณะสำคัญหลายประการที่คล้ายคลึงกันกับสมัยสุโขทัย มีการศึกษาภาษาต่างประเทศมากขึ้นหลายภาษา มีการแต่งแบบเรียนภาษาไทย และความเจริญสูงสุดทางวรรณคดีและวัดมีบทบาทในการจัดการศึกษามากกว่าในวัง

          3)  การศึกษาไทยสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ – ๒๓๒๕) ในคราวเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียหายอย่างมาก การฟื้นฟูประเทศให้เข้มแข็งโดยเร็ว การหาอาหารเลี้ยงประชาชนซึ่งอดอยากและยากจนจึงเป็นงานที่รีบด่วน ประชาชนทั่วๆไปต้องพะวงถึงการหาเลี้ยงชีพยิ่งกว่าที่จะให้ความสนใจถึงการศึกษาของบุตรหลาน แต่สำหรับเจ้านายและข้าราชการการศึกษายังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่มาก 

          4)  การศึกษาไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๔๑๑) การศึกษาสมัยนี้ยังคงมีศูนย์กลางอยู่ในวัดเหมือนสมัยอยุธยาดั่งที่สังฆราชปาลเลกัวซ์ (Jean – Baptiste Pallegoix) เล่าไว้ว่า
               “…บิดามารดาจะส่งบุตรของตนไปวัดเพื่อเรียนอ่านและเขียน พวกเด็กจะรับใช้พระสงฆ์โดยการเป็นฝีพาย หรือศิษย์วัด พระสงฆ์ก็แบ่งอาหารที่ได้รับบิณฑบาตทานให้แล้ว ก็สอนให้อ่านหนังสือไปวันละเล็กละน้อย” 

              อย่างไรก็ตามการศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น การศึกษาวิชาเฉพาะของสามัญชนเป็นไปลักษณะการศึกษาจากวงศ์ตระกูลและจากสำนักอื่นซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่วัด และการศึกษาลักษณะนี้มีค่านิยมเรื่องความหวงวิชา ความผูกพันกับครูและความเชื่อทางไสยศาสตร์สอดแทรกอยู่อย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว ผู้นำรัฐในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ปล่อยให้การศึกษาวิชาเฉพาะของสามัญชน เป็นเรื่องที่ราษฎรต้องขวนขวายเรียนเอง รัฐมิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวโดยตรง


       2. การศึกษาไทยยุคทันสมัย การศึกษาไทยโบราณเป็นการศึกษาที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตามธรรมชาติ อาศัยประเพณีและวัฒนธรรมเป็นกฎเกณฑ์ การอาชีพส่วนใหญ่ก็ถ่ายทอดจากวงศ์ตระกูล อาศัยอักขรวิธีไม่มากนัก ครูอาจารย์โดยมากเป็นพระสงฆ์หรือพระมหากษัตริย์ การสอนคุณธรรม จริยธรรม กิริยามารยาท มักใช้หลักพุทธศาสนาโดยมีหลักความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์สอดแทรกอยู่เสมอในการสอน จนกระทั่งได้รับอิทธิพลทางการเมืองและการศึกษาจากตะวันตกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

          1)  การเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑ – พ.ศ.๒๔๗๕) มีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในสมัยนี้ ดังนี้
               1. ปัจจัยทางด้านการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก
               2. ปัจจัยทางด้านสติปัญญาและความคิดตามแบบตะวันตก
               3. ปัจจัยทางด้านพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประสบการณ์จากต่างประเทศ
               4. ปัจจัยทางด้านการเลิกทาส
               5. ปัจจัยทางด้านความต้องการบุคคลเข้ารับราชการ
        
          2)  การเปลี่ยนแปลงการศึกษาตามตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๖
               โลกทัศน์ใหม่ต่อคติความเชื่อด้าน โลกนี้ โลกหน้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์เรื่องเทศนาเสือป่า ( พ.ศ. ๒๔๕๗ )อรรถาธิบายคำสอนของศาสนาพุทธว่า พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดที่จะบันดาลอะไรๆให้เกิดขึ้น ในบทที่เกี่ยวกับ “ปาฏิหาริย์” ได้ทรงอธิบายว่า ปาฏิหาริย์เป็นของเปรียบเทียบ เป็นของที่คนมีศรัทธา หาสิ่งวิจิตรมาประดับประดาศาสนาของตน จะถือตามตัวอักษรไม่ได้ ทุกศาสนามีเรื่องปาฏิหาริย์ เพราะเป็นเครื่องยั่วใจคนให้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานับเป็นกลวิธีของผู้สอน แต่อย่างไรก็ตาม
              “ปาฏิหาริย์ย่อมมีสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นโดยธรรมดาของโลก แต่หากไม่ได้ไตร่ตรองหรือพบเหตุ เราไม่รู้ว่าเป็นเหตุอย่างไร แลเห็นแต่ผล…ถ้าคนเราสามารถค้นให้ลึกลงไปคงได้ทราบสาเหตุแห่งปาฏิหาริย์”


          3)  การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในยุคประชาธิปไตย (พ.ศ.๒๔๗๕ – ปัจจุบัน)
               “…การศึกษาไทยในยุคประชาธิปไตยนี้แตกต่างไปจากยุคพุทธศาสนศึกษาและยุคทันสมัยอย่างสิ้นเชิง ความรู้แบบตะวันตกถูกนำมาใช้ในการศึกษาไทยโดยไม่มีความเชื่อแบบพุทธศาสนาและความนิยมเจ้าเป็นเครื่องมือคัดกรองอีกต่อไป ความหมายของการศึกษามีจุดเน้นย้ำอยู่ที่การสร้างชาติที่หมายถึง การสร้างจิตสำนึกแบบชาตินิยมใหม่ ตามอุดมคติใหม่แห่งรัฐเป้าหมายของการศึกษาอยู่ที่ความเป็นเอกภาพของรัฐชาติไทยที่มีศูนย์กลางคือ กรุงเทพมหานคร รูปแบบการศึกษาถูกทำให้เป็นระบบให้เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ โดยจัดให้มีหลักสูตรการศึกษาทุกระดับชั้น ทุกประเภทเหมือนกัน มีโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เป็นสถานศึกษาภายใต้การควบคุมจัดการของอำนาจจากศูนย์กลาง โดยไม่ปล่อยให้มีการศึกษานอกระบบและนอกสถานศึกษาภายใต้การควบคุมของรัฐอีกต่อไป สิทธิและอำนาจในการจัดการศึกษาที่เคยกระจัดกระจายอยู่ที่เอกชนและชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ถูกยึดมารวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์โดยทั้งหมดทั้งสิ้นของการศึกษาแห่งชาติ คือ กระบวนการทำให้ประชาชนคนไทยทุกๆคน มีความรู้ความคิด และความเชื่อตามที่รัฐกำหนด” 

               นอกจากนั้นคณะราษฎรยังได้ประกาศหลักการในการบริหารประเทศตามหลักแห่งรัฐประชาธิปไตย ๖ ประการคือ
                      ๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราช
                      ๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ
                      ๓. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยรัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทำ
                      ๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน
                      ๕. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการข้างต้น
                      ๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่กับราษฎร